เอ็นจีโอ : แรงงานข้ามชาติในไทยกว่า 5 แสนคน จะผิดกฎหมาย ถ้ารัฐไม่แก้ไข

ในวันพุธนี้ นักสิทธิแรงงานเปิดเผยว่า จะมีแรงงานข้ามชาติกว่า 5 แสนคนที่ต้องเป็นแรงงานผิดกฎหมายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากตกงานและหานายจ้างใหม่ได้ไม่ทันภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด จึงเรียกร้องรัฐเร่งแก้ไขปัญหา ขณะที่กรมการจัดหางานระบุว่า รับทราบปัญหาแล้ว พยายามประชุมรวมหลายฝ่ายเพื่อหาทางแก้ไขอยู่

ในการเสวนา “โควิดกับแรงงานข้ามชาติ เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) นักสิทธิแรงงานเปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีจำนวนมากต้องตกงานเนื่องจากนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ต่อสัญญา หรือบริษัทปิดตัว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน

“พอเกิดโควิดขึ้น แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเข้าถึงความช่วยเหลือทั้งหลายแหล่ สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนมากก็คือ แรงงานที่หายไปในช่วงโควิด แรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบในช่วงโควิด-19 เปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคม 2562 กับเดือนตุลาคม 2563 ทั้งหมด 592,450 คน… ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติที่อาจจจะกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายถึง 592,450 คน” นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG) กล่าว

นายอดิศร ระบุว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเก็บข้อมูล เฉพาะเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กาญจนบุรี พังงาน ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ระยอง และชลบุรี มีแรงงานข้ามชาติที่ตกงาน และขาดรายได้ 345,072 คน

“แรงงานข้ามชาติหลายคน แม้จะถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ก็ไม่สามารถได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายได้ เพราะหลายพื้นที่ล็อคดาวน์ เลยไปยื่นคำร้องในพื้นที่ไม่ได้ กระทรวงแรงงานมีระบบแรงงาน ก็มีแต่ภาษาไทย… เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใน 30 วัน ตามกฎหมาย ในช่วงโควิดทำไม่ได้ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากหลุดจากระบบไป” นายอดิศรกล่าว

น.ส.เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เปิดเผยว่า ธุรกิจประมง และธุรกิจต่อเนื่องประมง มีความต้องการแรงงานสูงมากในปัจจุบัน เพราะแรงงานข้ามชาติขาดแคลนหลังการระบาดของโควิด-19

“ถ้าแรงงานไม่ครบตามขนาดเรือ เรือลำนั้นก็ไม่สามารถออกได้ ตอนมกราคม กิจการประมงตามเอ็มโอยู มีแรงงานประมาณ 7.5 พันกว่าคน ตอนนี้ ลดลงมาเหลือ 7.1 คน แต่ที่เห็นได้ชัดคือ กิจการต่อเนื่องประมงที่ช่วงเดือนมกราคม จะมียอด 21,498 คน แต่พอเดือนตุลาคมจะเหลือเพียง 10,868 คน ผลกระทบจะเห็นได้ว่าตัวเลขที่น้อยลงนำมาซึ่งการทำงานที่หนักขึ้น มีการนำแรงงานที่ไม่สบายต้องออกไปทำงาน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการค้ามนุษย์ หรือแรงงานบังคับได้ในอนาคต” น.ส.เพ็ญพิชชา กล่าว

ขณะที่ นายคายง์ มิน หลุ่ย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ซึ่งทำงานในกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า จากการทำงานเป็นอาสาสมัครให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย พบว่า แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบทั้งเรื่องรายได้ และสุขภาพ

“แรงงานตกงาน รายได้น้อยลง แต่รายจ่ายต้องจ่ายเหมือนเดิม บ้านนึงมี 7 คน ทำงาน 4 คน พอโควิดมา ตกงาน 3 คน เหลือทำงาน 1 คน ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ยังไง ถ้าไม่สบาย ก็ไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะเรื่องภาษา เช่น สมุทรปราการไม่มีล่าม ก็ไม่สามารถเข้าไปรับบริการได้โดยตรง ต้องหาล่ามก็มีค่าใช้จ่าย การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ก็ไม่มีภาษาของแรงงาน เลยไม่เข้าใจมาตรการของรัฐบาล” นายคายง์ กล่าว

ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network – MWRN) ชี้ว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศที่ตกงาน และอาจกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมการนำเข้าแรงงานเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน

“จริง ๆ แล้ว แรงงานที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ก็สามารถเอาเขาเหล่านี้ฟื้นขึ้นมาเป็นแรงงานที่ถูกต้องได้ เพราะความผิดไม่ได้เกิดจากตัวแรงงาน มันผิดจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ตั้งแต่โควิด-19 ให้อยู่ไปพลาง ๆ อายุวีซ่า อายุพาสปอร์ต ก็ผ่านไป จะทำให้เขาเป็นแรงงานถูกกฎหมายได้อย่างไร คือข้อเสนอเร่งด่วน มันจะสอดคล้องทั้งความต้องการของแรงงาน และธุรกิจ” น.ส.สุธาสินี กล่าว

ในวงเสวนายังได้เสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการ เพื่อนำแรงงานข้ามชาติกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้กำหนดมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้ชัดเจน คือ ให้มีการกักตัวก่อนเข้ามาทำงาน 14 วัน และให้รัฐบาลร่วมกับนายจ้าง เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัว เนื่องจากเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานข้ามชาติ

กรมการจัดหางาน : กำลังประชุมหามาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ

ต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า กระทรวงแรงงานรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติแล้ว และกำลังหาแนวทางแก้ไขอยู่

“ได้รับฟังปัญหามาจากเอ็นจีโอ รวมถึงนายจ้างจากหลายภาคส่วน ได้รับทราบเป็นข้อมูลแล้วว่า ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ไม่สามารถเข้าสู่ขั้นระบบตามขั้นตอนของรัฐได้ ซึ่งตอนนี้เรากำลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการแก้ไขอยู่ ซึ่งหากมีความคืบหน้า ก็จะได้ประชาสัมพันธ์ออกไปในอนาคต” นายสุชาติ กล่าวผ่านโทรศัพท์

“ในส่วนของแรงงานไร้ฝีมือ ที่ต้องการกลับเข้ามาในประเทศไทย เราได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการแล้วว่า หากกลับเข้ามาต้องมีการกักตัว และมีการควบคุมดูแล โดยคณะกรรมการสาธารณสุขแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของ ศบค. และรัฐบาล ขณะเดียวกัน กระบวนการฝ่ายเราก็อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศปลายทางทั้งสามด้าน ซึ่งยังไม่สามารถระบุวันที่แน่ชัดได้ ว่าจะสามารถให้กลับเข้ามาในประเทศไทยได้เมื่อใด” นายสุชาติ ระบุ

ข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ในเดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติชาวลาว เมียนมา และกัมพูชา รวม 2,990,777 คน แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2563 พบว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเหลือเพียง 2,284,673 คน อย่างไรก็ตาม เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ประเมินว่า อาจมีแรงงานถึง 7 แสนคน ที่ถูกเลิกจ้างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่กระทรวงแรงงานรวบรวม

ต่อข้อกังวลว่า การขาดแคลนแรงงาน อาจกระตุ้นให้เกิดการใช้แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์นั้น ในวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ครั้งที่ 4/2563 เปิดเผยในที่ประชุมว่า เป้าหมายของรัฐบาลไทย คือ แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อให้ไทยสามารถยกระดับสถานะในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา หรือ ทิปรีพอร์ต (TIP Report) จากกลุ่มประเทศเทียร์ 2 สู่กลุ่มประเทศเทียร์ 1 ให้ได้ โดยใช้ 3 มาตรการหลัก ดังนี้ 1. ดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย 2. ด้านคุ้มครอง ช่วยเหลือ และดูแลกลุ่มผู้เสียหาย และ 3. ป้องกัน โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปรามการค้ามนุษย์

วานนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (The Mekong Migration Network – MMN) ได้จัดเสวนาเกี่ยวกับ การปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน โดยในเวทีเสวนาได้เรียกร้องให้ รัฐบาลไทย กัมพูชา และเมียนมา ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แรงงานข้ามชาติจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากในเวลาปกติ แรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทย แต่ในปัจจุบัน พวกเขากลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศไทยเช่นกัน

 

Source: https://www.benarnews.org/thai/news/th-covid-migrants-12162020125231.html