แถลงการณ์สนับสนุนแรงงานข้ามชาติระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN)

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

สำหรับเผยแพร่อย่างกะทันหันก่อนการประชุมอาเซียนว่าด้วยแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 13

ประเทศเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยแรงงานข้ามชาติ (AFML) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 10 ถึง 12 พฤศจิกายน 2563 ประเด็นหลักของการประชุมฯ ในปีนี้คือ “การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติในช่วงการระบาดของโรคเพื่อการเป็นประชาคมอาเซียนที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันและตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว”

ในเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกลุ่มประเทศอาเซียนได้รับรองแถลงการณ์ร่วมเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อแรงงานและการจ้างงาน ในแถลงการณ์นี้เหล่ารัฐมนตรีตกลงที่จะ“ให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมแก่แรงงานข้ามชาติของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในประเทศของกันและกันหรือในประเทศที่สาม รวมถึงการดำเนินการตามฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างมีประสิทธิผล ในการทำงานเพื่อสุขภาพ  ความเป็นอยู่ที่ดี และความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและการกลับไปอยู่กับครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ”[1]

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) เป็นเครือข่ายอนุภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคม (CSO) กว่า 40 องค์กรที่ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ยังคงเรียกร้องให้อาเซียนและรัฐบาลแห่งชาติของประเทศสมาชิกดำเนินการในทันที เพื่อสนับสนุนสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวแรงงานฯ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 [2]  โดยนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด เครือข่ายฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และทำการวิจัยร่วมกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโรคนี้ที่มีต่อชุมชนแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)

จากข้อค้นพบเบื้องต้นของการวิจัยที่กำลังจะนำเสนออย่างเป็นทางการของเรา เครือข่ายฯ ขอใช้โอกาสของการประชุมอาเซียนว่าด้วยแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 13 นี้ ในการเน้นย้ำประเด็นที่น่ากังวลหลายประการซึ่งส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติในช่วงของการระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตามเจตนารมณ์ของความร่วมมือในระดับภูมิภาคซึ่งแสดงในแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนที่ได้อ้างถึงข้างต้น และเรายังได้จัดทำข้อเสนอแนะเป็นการเฉพาะไปยังรัฐบาลของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ระบุไว้อย่างสมบูรณ์

 

ภาพรวม

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องเผชิญกับความท้าทายที่คาดไม่ถึงซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้จะมีการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ทั้งในประเทศต้นทางและปลายทาง แต่แรงงานข้ามชาติก็ยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางที่สุดท่ามกลางวิกฤตในปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติจำนวนมากทำงานในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด และถูกทำให้ตกงานหรือถูกบังคับให้ทำงานโดยได้รับค่าจ้างที่ลดลงเป็นอย่างมาก สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือ แรงงานข้ามชาติและครอบครัวส่วนใหญ่เข้าถึงโครงข่ายความปลอดภัยและการคุ้มครองทางสังคมเพียงเล็กน้อยหรือเข้าไม่ถึงเลย และน่าเสียดายที่โครงการบรรเทาทุกข์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่ออกโดยรัฐบาลในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ยกเว้นบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองของประเทศตน แรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจำนวนมากที่ตกงานอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดถูกปฏิเสธทั้งการจ่ายเงินทดแทนการให้ออกจากงานจากนายจ้างและสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากทางการ หลายคนไม่มีเงินออมเพียงพอที่จะอยู่รอดและกำลังกู้ยืมเงินเพื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจทำให้สถานการณ์ที่ง่อนแง่นอยู่แล้วยิ่งหนักหนามากขึ้น จนถึงขนาดที่หลายคนต้องเผชิญกับการสิ้นเนื้อประดาตัว อดอยาก และไร้ที่อยู่อาศัย

การหางานใหม่ในสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงอย่างมากและข้อจำกัดที่เข้มงวดในการควบคุมแรงงานข้ามชาติในการเปลี่ยนงาน หลายคนกำลังหางานทำชั่วคราวในฐานะผู้ใช้แรงงานรายวันเพื่อที่จะเอาตัวให้รอด ในขณะเดียวกันทางเลือกในการกลับไปยังประเทศต้นทางก็มีความท้าทายหลายประการทั้งในแง่ของข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทาง ตลอดจนความยากลำบากทางเศรษฐกิจเมื่อเดินทางกลับมา

ผลสะท้อนจากสถานการณ์นี้ที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่องคือ แรงงานข้ามชาติโดยทั่วไปรู้สึกไม่แน่นอนและสับสนในข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ, ความเป็นไปได้ในการกลับประเทศต้นทางหรือการการย้ายถิ่นกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง รวมถึงค่าใช้จ่ายและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด

เมื่อเดินทางกลับบ้าน แรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เดินทางกลับรายงานว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ในขณะที่พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดในแต่ละวันในประเทศของตนเอง ถึงแม้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะมีการเคลื่อนย้ายของประชากรเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันการคุ้มครองทางสังคมที่เคลื่อนย้ายได้ยังมีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ความจริงข้อนี้ทำให้แรงงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจ่ายเงินสมทบให้แก่โครงการประกันสังคมที่แรงงงานได้จ่ายขณะทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนามได้ดำเนินการก่อตั้งแผนการคุ้มครองทางสังคมที่เคลื่อนย้ายได้กับประเทศปลายทางหลักๆ ที่แรงงานจากประเทศตนเองไปทำงาน  โดยที่ในประเทศเวียดนามนั้น รายละเอียดเกี่ยวกับการประกันสังคมที่เคลื่อนย้ายได้ ได้รวมอยู่ในร่างกฎหมายว่าด้วยแรงงานเวียดนามที่ไปทำงานต่างประเทศที่มีการเซ็นสัญญาการจ้างงาน (ฉบับแก้ไข)[3] ขั้นตอนเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ปิดบังความจริงที่ว่า ประเทศต้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังไม่ประสบความสำเร็จในการนำกลไกใดๆ มาใช้เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิประโยชน์ที่สามารถโอนย้ายได้จากประเทศปลายทาง

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่กำลังเตรียมจะเป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งได้จ่ายค่าธรรมเนียมการฝึกอบรม การตรวจโรค การจัดหางาน และการจัดทำเอกสาร แต่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายเพื่อเริ่มทำงานเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ได้รายงานว่าเป็นการยากที่จะได้รับเงินคืนจากบริษัทจัดหางาน ในขณะที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่กลับไปยังประเทศต้นทางก่อนหน้านี้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด กำลังหวังที่จะได้กลับเข้าทำงานหรือกำลังอยู่ในกระบวนการย้ายถิ่นเพื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง การที่ประเทศปลายทางหลักได้เปิดพรมแดนขึ้นอีกครั้งและเริ่มโครงการจัดหางานใหม่อีกนั้น ทำให้มีผู้คนจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับบ้านและแรงงานที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกใหม่กำลังมองหาโอกาสในการย้ายถิ่น ในกระบวนการนี้แรงงานที่กำลังจะย้ายถิ่นรู้สึกกังวลว่าพวกเขาจะต้องจ่ายเงินสำหรับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดถึงแม้ว่านโยบายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ได้ระบุไว้เช่นนี้ก็ตาม

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติแผนของกระทรวงแรงงานที่จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมากกว่าครึ่งล้านคนซึ่งมีเอกสารการเดินทางที่จำเป็น สามารถคงสถานะการจ้างงานต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 นอกจากนี้ยังประกาศว่าแรงงานข้ามชาติที่นายจ้างได้รับอนุญาตให้นำแรงงานเข้ามาได้อาจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้แล้ว การตัดสินใจผ่อนปรนข้อกำหนดด้านการย้ายถิ่นสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ความสำคัญนี้ได้สะท้อนไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่นที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งสำหรับแรงงานข้ามชาติจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งในปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในภาคต่างๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติค่อนข้างสูง ข้อจำกัดการเดินทางในปัจจุบันทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า แรงงานข้ามชาติเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของสังคมผู้สูงอายุจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะมองหาวิธีแก้ไขปัญหาเชิงปฏิบัติซึ่งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยไม่บั่นทอนการสาธารณะสุข หลายประเทศกลับใช้การควบคุมชายแดนที่เข้มงวดขึ้น และดำเนินคดีกับแรงงานข้ามชาติในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการเข้าเมือง การที่ประเทศไทยตัดสินใจต่ออายุบัตรอนุญาตทำงานซึ่งเป็นการต้อนรับแรงงานนั้น กลับสามารถใช้ได้เฉพาะกับแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้น และไม่คำนึงถึงสภาวะวิกฤตซึ่งแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนมากกำลังเผชิญ

 

ข้อเสนอแนะ

เพื่อบรรเทาปัญหาที่แรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังประสบในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำแนะนำต่อไปนี้เป็นการเร่งด่วน :

 

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของประเทศต้นทาง

  1. สร้างความมั่นใจในการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัยโดยการให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 แก่ผู้ที่กำลังจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกักตัวและกระบวนการตรวจสุขภาพอื่นๆ ที่จำเป็น มาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานที่จะนำมาใช้ในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงกลไกการรายงานเรื่องร้องเรียนต่างๆ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการได้รับสิทธิและการคุ้มครองทางด้านสุขภาพและสังคมในประเทศปลายทาง
  2. ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและครอบคลุมแก่แรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการกักตัว กระบวนการที่จำเป็นและข้อมูลการติดต่อที่เป็นประโยชน์ และความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายใดๆ ให้น้อยที่สุด
  3. เพิ่มประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือจากคณะทูตและผู้ช่วยทูตด้านแรงงานงาน ซึ่งรวมถึง การปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลแก่แรงงานข้ามชาติผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ การจัดให้มีทรัพยากรบุคคลอย่างเพียงพอเพื่อตอบข้อซักถามและตอบสนองต่อการรายงานหรือการร้องเรียนเรื่องต่างๆ จากแรงงานข้ามชาติ และการเพิ่มประสิทธิผลและขีดความสามารถในการให้บริการและความช่วยเหลือของสถานทูตและสถานกงสุล
  4. ตรวจสอบบริษัทหรือหน่วยงานจัดหางานต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า แรงงานข้ามชาติที่ไม่อาจย้ายถิ่นไปทำงานสามารถยกเลิกสัญญาและรับเงินคืนพร้อมกับรับเอกสารส่วนตัวคืนได้

 

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของประเทศปลายทาง

  1. ทำให้มั่นใจว่านายจ้างจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ถูกให้ออกจากงาน
  2. อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมีความยืดหยุ่นในเรื่องการจ้างงานมากขึ้น เช่น ผ่อนปรนข้อกำหนดที่ห้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนงาน อนุญาตให้ทำงานพิเศษได้ และฝึกทักษะใหม่
  3. ดำเนินมาตรการบรรเทาทุกข์ที่ตอบสนองและเหมาะสมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแรงงานข้ามชาติทุกคนที่ต้องเผชิญกับการว่างงาน มาตรการพิเศษต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการต่อวีซ่า การนิรโทษกรรม การออกใบอนุญาตทำงานหรือการอนุญาตให้อยู่อาศัยซึ่งสามารถเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นสำหรับแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกับความต่อเนื่องที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถทำงานต่อไปให้ได้

 

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของประเทศต้นทางและปลายทาง

 

  1. ร่วมมือกันผลักดันรูปแบบค่าธรรมเนียมการจัดหางานที่เป็นศูนย์ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นจะได้รับการจ่ายโดยนายจ้างหรือได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในกรณีที่มีความคลุมเครือ เช่น ค่าใช้จ่ายในการกักตัวสำหรับแรงงานข้ามชาติ ให้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และสร้างกลไกเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดการหักเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติในภายหลัง
  2. เน้นการตอบสนองทางด้านสาธารณสุขและมนุษยธรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโรค ความพยายามต่างๆ ควรมุ่งไปที่การจัดให้มีมาตรการกักตัวและตรวจสุขภาพในราคาไม่แพง ณ จุดผ่านแดน มากกว่าการเพิ่มกำลังทหารประจำชายแดน
  3. ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการทำให้ระบบประกันสังคมเคลื่อนย้ายได้
  4. ประสานงานแผนเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรค โดยรวมถึงเรื่องต่อไปนี้ : การรับประกันการส่งตัวกลับประเทศและการย้ายถิ่นอีกครั้งให้มีความปลอดภัยและมีค่าใช้จ่ายเหมาะสมที่แรงงานฯ สามารถจ่ายได้ การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการคุ้มครองทางสังคม การผ่อนปรนระเบียบขั้นตอนด้านสุขภาพและเอกสารทางกฎหมายสำหรับแรงงานข้ามชาติ และการรับประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

ข้อเสนอแนะต่อประเทศอาเซียน

  1. ประเมินผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อประชากรแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง และระบุพื้นที่ที่ต้องการการตอบสนองในระดับภูมิภาค
  2. ติดตามและประสานงานเรื่องการปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีแรงงานของประเทศอาเซียนเกี่ยวกับการตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อแรงงานและการจ้างงาน ซึ่งได้ตกลงกันในเดือนพฤษภาคม 2563

 

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 เป็นเครือข่ายระดับอนุภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันวิจัยที่ทำงานด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ขอบเขตการทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ ได้แก่ การวิจัย การผลักดันเชิงนโยบาย การสร้างเสริมศักยภาพและการสร้างเครือข่ายร่วมกัน สมาชิกของเครือข่ายฯ ดำเนินงานทั้งในประเทศต้นทางและปลายทาง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำงานในแต่ละพื้นที่ และติดต่อใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติในระดับรากหญ้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายฯ โปรดไปที่หน้าเว็บไซต์ของเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ www.mekongmigration.org

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแถลงการณ์โปรดติดต่อ :

Ms. Reiko Harima, ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น) อีเมล์: reiko@mekongmigration.org

Mr. Nguyen Manh Tuan, ผู้ประสานงานโครงการของเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาษาเวียดนามและภาษาอังกฤษ) อีเมล์: tuan@mekongmigration.org; หรือโทร. +84 394327031

Ms. Kim Thi Thu Ha, กรรมการผู้จัดการ Centre for Development and Integration (ภาษาเวียดนามและภาษาอังกฤษ) อีเมล์: ha.kimthu@cdivietnam.org; หรือโทร. +84 975858899

Ms. Winnie Sachdev, เจ้าหน้าที่วิจัยและผลักดันนโยบาย (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อีเมล์: winnie@mekongmigration.org; หรือโทร. +66 957294500

Mr. Brahm Press, ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิ MAP (ภาษาอังกฤษและภาษาไทย) อีเมล์: brahm.press@gmail.com

Mr. Sokchar Mom, ผู้อำนวยการบริหาร Legal Support for Children and Women, Cambodia ประเทศกัมพูชา (ภาษาเขมรและภาษาอังกฤษ) อีเมล์: sokchar_mom@lscw.org; หรือโทร. +855 12943767

Ms. Thet Thet Aung, ผู้อำนวยการ Future Light Center, ประเทศเมียนมาร์ (ภาษาพม่า) อีเมล์: thet2aung2012@gmail.com

หรือติดต่อสำนักงานเลขานุการMMN โทร. + 66 (53) 283259.

[1] แถลงการณ์ร่วมโดยรัฐมนตรีแรงงานของประเทศอาเซียนเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (โรคโควิด-19) ที่มีต่อแรงงานและการจ้างงาน, สามารถดูได้ที่ https://asean.org/storage/2012/05/ALM-Joint-Statement-on-Response-to-the-Impact-of-COVID-19-on-Labour-and-Employment-ADOPTED-14-May-2020-final.pdf.

[2] แถลงการณ์ของเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง, สามารถดูได้ที่ https://mekongmigration.org/?p=14877.

[3] มาตรา 6 ตอนที่ 1 ง. ร่างกฎหมายว่าด้วยแรงงานเวียดนามที่ไปทำงานต่างประเทศที่มีการเซ็นสัญญาการจ้างงาน (ฉบับแก้ไข). สามารถดูได้ที่ https://thuvienphapluat.vn/van-ban/lao-dong-tien-luong/Luat-Nguoi-lao-dong-Viet-Nam-lam-viec-o-nuoc-ngoai-theo-hop-dong-sua-doi-439844.aspx.